Please use this identifier to cite or link to this item: http://mcuir.mcu.ac.th:8080/jspui/handle/123456789/935
Title: คัมภีร์มูลสิกขา-มูลสิกขาฎีกา: การแปล และวิเคราะห์
Other Titles: Mulasikkha-Malasikkhatika: Translation and Analysis
Authors: ผศ.ดร.วิโรจน์, คุ้มครอง
Keywords: คัมภีร์มูลสิกขา-มูลสิกขาฎีกา
Issue Date: 1-Jun-2562
Abstract: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาคัมภีร์มูลสิกขา-มูลสิกขาฎีกา ในด้านประวัติผู้แต่ง สมัยที่แต่ง โครงสร้างคัมภีร์ เนื้อหา ไวยากรณ์ สำนวนภาษาและความสัมพันธ์กับคัมภีร์อื่นๆ (๒) เพื่อแปลคัมภีร์มูลสิกขา-มูลสิกขาฎีกาจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์คุณค่าของคัมภีร์มูลสิกขา-มูลสิกขาฎีกาที่มีต่อการศึกษาพระพุทธศาสนา เป็นการวิจัยเชิงเอกสารโดยมีวิธีดำเนินการวิจัยคือ นำคัมภีร์มูลสิกขา-มูลสิกขาฎีกาที่เป็นภาษาบาลีแล้วแปลเป็นภาษาไทย มีการวิเคราะห์คัมภีร์ในด้านประวัติผู้เรียบเรียง โครงสร้าง เนื้อหา ไวยากรณ์ สำนวนภาษา และวิเคราะห์คุณค่าของคัมภีร์มูลสิกขา-มูลสิกขาฎีกาที่มีต่อการศึกษาพระพุทธศาสนา ผลการวิจัยพบว่า คัมภีร์มูลสิกขา คือ คัมภีร์ว่าด้วยสิกขาอันเป็นมูลสำหรับศึกษาเป็นพื้นฐานของชีวิตบรรพชิตในพระพุทธศาสนา รจนาโดยพระมหาสามิเถระ ชาวสิงหล แต่งราวประมาณ พ.ศ. ๙๐๐ มีโครงสร้างการอธิบายพระวินัยจำนวน ๖ หัวข้อ คือ ๑. ปาราชิกนิทเทส ๒. ครุกาบัตินิทเทส ๓. นิสสัคคียนิทเทส ๔. ปาจิตติยนิทเทส ๕. ปกิณณกนิทเทส ๖. วัตตาทิกัณฑนิทเทส และคัมภีร์มูลสิกขาฎีกา คือ คัมภีร์ฎีกาว่าด้วยสิกขาอันเป็นมูล รจนาโดยพระวิมลสารเถระ ที่เมืองอนุราธปุระ สิงหล เป็นคัมภีร์ที่แต่งอธิบายคัมภีร์มูลสิกขาตามลำดับ ทั้งคัมภีร์มูลสิกขาและมูลสิกขาฎีกานี้ผู้วิจัยได้ทำการแปลเป็นภาษาไทยเรียบร้อยแล้ว คัมภีร์ทั้ง ๒ มีการใช้สำนวนภาษา คือ นามศัพท์ กิริยาศัพท์ อัพยยศัพท์ได้อย่างถูกต้องตามหลักภาษาและหลักไวยากรณ์ และมีรูปแบบการประพันธ์ ๒ แบบ คือ แบบร้อยแก้ว คือ การดำเนินเรื่องแบบธรรมดา แบบร้อยกรอง คือ การดำเนินเรื่องในรูปแบบคาถา พระมหาสามิเถระและพระวิมลสารเถระผู้แต่งคัมภีร์ทั้ง ๒ มีความเชี่ยวชาญคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ทั้งพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา ได้อธิบายเพิ่มเติมจากพระวินัยปิฎก อรรถกถาพระวินัย ขุททสิกขาอภินวฎีกา เพื่อความสมบูรณ์ในสิกขาบทข้อนั้นๆ อย่างไรก็ตามคัมภีร์มูลสิกขา-มูลสิกขาฎีกานี้ได้สร้างคุณูปการแก่ผู้ศึกษาพระวินัยอย่างยิ่ง วิเคราะห์คุณค่าของคัมภีร์มูลสิกขา-มูลสิกขาฎีกาที่มีต่อการศึกษาพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย (๑) คุณค่าในด้านการอธิบายพระวินัย โดยพระเถระทั้ง ๒ รูป ซึ่งเป็นผู้แต่งได้อธิบาย พระวินัยเพิ่มเติมคือ ๑. ปาราชิก ๔ ๒. สังฆาทิเสส ๗ ๓. นิสสัคคียปาจิตตีย์ ๑๒ และ ปาจิตตีย์ ๒๓ รวมเป็น ๔๖ ข้อ จากศีลทั้งหมด ๒๒๗ ข้อ เป็นศีลหรือข้อห้ามของพระภิกษุสงฆ์ ทรงวางข้อกำหนดเพื่อไม่ให้ละเมิด เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของคณะสงฆ์ (๒) คุณค่าในด้านความสามัคคีในหมู่คณะ เมื่อทรงบัญญัติพระวินัยได้มีจุดมุ่งหมายของการบัญญัติไว้เพื่อความสามัคคีในหมู่คณะโดยอาศัยประโยชน์ ๑๐ ประการ เช่น เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์เป็นต้น (๓) คุณค่าในด้านเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชน โดยพระวินัย คือ กฎระเบียบข้อบังคับที่จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปในทางเดียวกันของหมู่ภิกษุสงฆ์ เพื่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น เพื่อมีอาจาระอันงดงาม อันจะนำไปสู่การประพฤติดีปฏิบัติชอบ (๔) คุณค่าในด้านความมั่นคงของพระพุทธศาสนา พระวินัยถือว่าเป็นความมั่นคงของพระพุทธศาสนา ถ้าภิกษุทุกรูปประพฤติตามพระวินัย ก็จะเป็นหมู่ภิกษุที่งดงามทำให้เกิดความเลื่อมใสศรัทธา และทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ยืนนาน (๕) คุณค่าด้านเป็นเครื่องมือช่วยวินิจฉัยอธิกรณ์ที่เกิดขึ้นอันเป็นโทษในทางพระวินัยที่เรียกว่า อธิกรณสมถะ แปลว่า ธรรมเครื่องระดับอธิกรณ์มี ๗ ประการ เช่น สัมมุขาวินัย คือ การจัดการความขัดแย้งในที่พร้อมหน้า หรือวิธีระงับต่อหน้า มีความพร้อมหน้าสงฆ์ เป็นเครื่องมือในการตัดสินคดีหรืออธิกรณ์ที่เกิดขึ้นกับพระสงฆ์ (๖) คุณค่าในด้านที่เป็นผลทางพระวินัย ถ้าพระสงฆ์ทุกรูปรักษาพระวินัยแล้ว โดยรวมนั้นจะสามารถส่งผลดีให้เกิดความเป็นอยู่ที่สงบเรียบร้อย มีความสุขทั้งในปัจจุบันและอนาคต (๗) คุณค่าในด้านการเรียนการสอนพระวินัย คือในคัมภีร์มูลสิกขา-มูลสิกขาฎีกานี้ มีอยู่ในรายวิชา ภิกขุวิภังคปาลิ ที่มีการอธิบายเพิ่มเติมอาบัติ ปาราชิก สังฆาทิเสส นิสสัคคียปาจิตตีย์ และปาจิตตีย์จากพระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกาเป็นต้น มาสนับสนุนแนวการอธิบาย และมีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ซึ่งเป็นการอธิบายพระวินัยให้เข้าใจได้ง่ายๆ
Description: 265 หน้า
URI: http://mcuir.mcu.ac.th:8080/jspui/handle/123456789/935
Appears in Collections:รายงานการวิจัย (Research reports)



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.