Please use this identifier to cite or link to this item: http://mcuir.mcu.ac.th:8080/jspui/handle/123456789/931
Title: คัมภีร์สุตตสังคหะ : การปริวรรต การแปล และการวิเคราะห์
Other Titles: Suttasangaha: Transliteration Translation and Analysis
Authors: ดร.วิโรจน์, คุ้มครอง
Keywords: คัมภีร์สุตตสังคหะ
Issue Date: 1-Jun-2559
Abstract: การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์คัมภีร์สุตตสังคหะในด้านประวัติผู้เรียบเรียง โครงสร้าง เนื้อหา ลักษณะการประพันธ์ สำนวนภาษาและการจารลงใบลาน (๒) เพื่อปริวรรตคัมภีร์สุตตสังคหะจากต้นฉบับภาษาบาลีอักษรขอมเป็นภาษาบาลีอักษรไทย และแปลเป็นภาษาไทย (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ความสอดคล้องสัมพันธ์กันของพระสูตรที่ท่านเรียบเรียงในคัมภีร์สุตตสังคหะ เป็นการวิจัยเชิงเอกสารโดยมีวิธีดำเนินการวิจัยคือ นำคัมภีร์สุตตสังคหะที่เป็นภาษาบาลีอักษรขอมฉบับหอสมุดแห่งชาติปริวรรตให้เป็นบาลีอักษรไทยและแปลเป็นภาษาไทย มีการวิเคราะห์คัมภีร์ในด้านประวัติผู้เรียบเรียง โครงสร้าง เนื้อหา ลักษณะการประพันธ์ สำนวนภาษา และการจารลงใบลาน วิเคราะห์ความสอดคล้องสัมพันธ์กันของพระสูตร และวิเคราะห์คุณค่าทางสังคมในคัมภีร์ ผลการวิจัยพบว่า คัมภีร์สุตตสังคหะ เป็นคัมภีร์ว่าด้วยการรวบรวมพระสูตร แต่งโดยพระอริยวังสเถระชาวพม่าขณะที่อยู่ในสำนักมหาวิหาร ไม่ได้เป็นพระพุทธพจน์โดยตรง ในประเทศพม่าให้การยกย่องเทียบกับพระไตรปิฎกจัดอยู่ในกลุ่มพระสุตตันตปิฎก คัมภีร์สุตตสังคหะอักษรขอมที่ใช้ในการบริวรรต เป็นฉบับหอสมุดแห่งชาติ จำนวน ๘ ผูก มีการแบ่งโครงสร้างออกเป็นหมวดหมู่ ๗ คือ (๑) พระสูตรที่พรรณนาเรื่องทาน ๖ สูตร (๒) พระสูตรที่พรรณนาเรื่องศีล ๖ สูตร (๓) พระสูตรที่พรรณนาเรื่องสวรรค์ ๕ สูตร (๔) พระสูตรที่พรรณนาเรื่องโทษของกามคุณ ๕ สูตร (๕) พระสูตรที่พรรณนาเรื่องกิจของฆราวาส ๓๑ สูตร (๖) พระสูตรที่พรรณนาเรื่องการอนุโมทนา ๑๔ สูตร และ (๗) พระสูตรที่พรรณนาเรื่องข้อปฏิบัติของบรรพชิต ๑๘ สูตร รวมเป็น ๘๕ สูตร มีลักษณะการประพันธ์ ๒ แบบคือ (๑) การประพันธ์แบบร้อยแก้ว (๒) การประพันธ์แบบร้อยกรอง มีสำนวนภาษาที่ใช้ ๓ ส่วนคือ (๑) วิธีการใช้นามศัพท์ (๒) วิธีการใช้กิริยาศัพท์ (๓) วิธีการใช้อัพยยศัพท์ มีการจารเป็นบาลีอักษรขอมลงในใบลานและการเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ มีชื่อว่า คัมภีร์สุตตสังคหะ เพราะยุคนั้นไม่มีตัวพิมพ์อักษรขอม ผู้วิจัยได้ทำการปริวรรตจากบาลีอักษรขอมเป็นบาลีอักษรไทย และแปลเป็นภาษาไทยเสร็จเรียบรอยแล้ว วิเคราะห์ความสอดคล้องสัมพันธ์กันของพระสูตรที่ท่านเรียบเรียงในคัมภีร์สุตตสังคหะ แบ่งออกเป็น ๘ ผูกเช่น (๑) ผูกที่ ๑ พระอริยวงส์พระเถระชาวพม่าได้แต่งคัมภีร์สุตตสังคหะมีความสอดคล้องกับพระไตรปิฎก และอรรถกถา โดยนำคำสำคัญในพระไตรปิฎกมาอธิบายในอรรถกถา และคัมภีร์ฎีกาให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นเช่น ในกาลทานสูตร คำว่า กาลทาน ในอรรถกถาอธิบายว่า กาลทาน หมายถึง ยุตตทาน คือ การให้ที่เหมาะสม (๒) ผูกที่ ๒ เช่น อุปาสกจัณฑาลสูตร คำว่า อุบาสกน่ารังเกียจ ในอรรถกถาอธิบายว่า อุบาสกน่ารังเกียจ หมายถึง อุบาสกชั้นเลว (๓) ผูกที่ ๓ เช่น ในฉัตตมาณวกวิมาน คำว่า กามราคานุสัย ในอรรถกถาอธิบายว่า กามราคานุสัย หมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน (๔) ผูกที่ ๔ เช่น ในเทวทูตสูตร คำว่า นายนิรยบาล ในอรรถกถาอธิบายว่า นายนิรยบาล หมายถึง ผู้ทำหน้าที่ลงโทษสัตว์นรกเป็นต้น (๕) ผูกที่ ๕ เช่น ในสูกรโปติกาวัตถุ คำว่า ตัณหา ๓๖ สาย ในอรรถกถาอธิบายว่า ตัณหา ๓๖ สาย ได้แก่ ตัณหา ๓ (กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) อาศัยอายตนะภายใน ๖ (๓ x ๖ = ๑๘) อาศัยอายตนะภายนอก ๖ (๓ x ๖ = ๑๘) ได้กระแส ๓๖ สาย (๖) ผูกที่ ๖ เช่น ในโลกานุวิจรณมหาราชสูตร คำว่า อยู่จำอุโบสถ ในอรรถกถาอธิบายว่า อยู่จำอุโบสถ หมายถึง อธิษฐานอยู่จำอุโบสถศีล คือ ศีล ๘ เดือนละ ๘ ครั้ง (๗) ผูกที่ ๗ เช่น ในมหาสมยสูตร คำว่า เมตตาและกรุณา ในอรรถกถาอธิบายว่า เมตตาและกรุณา หมายถึง เหล่าเทพเทวดาที่เกิดด้วยอำนาจเมตตาฌานและกรุณาฌานที่เคยบำเพ็ญมา (๘) ผูกที่ ๘ เช่น ในตุวฏกสูตร คำว่า รากเหง้าแห่งกิเลสเครื่องเนิ่นช้า ในอรรถกถาอธิบายว่า รากเหง้าของส่วนแห่งธรรมเป็นเครื่องเนิ่นช้า หมายถึง อวิชชา อโยนิโสมนสิการ อัสมิมานะ อหิริกะ อโนตตัปปะ และอุทธัจจะ เป็นต้น วิเคราะห์คุณค่าทางสังคมในคัมภีร์สุตตสังคหะ แบ่งออกเป็น (๑) คุณค่าทางสังคมเรื่องทาน (การให้) มี ๖ สูตร เช่น ในกาลทานสูตรเป็นต้น เพราะทาน หรือ การให้เป็นเบื้องต้นของการเสียสละของบุคคลในสังคม เมื่อมีการให้สังคมก็จะมีความรักความเมตตาต่อกัน (๒) คุณค่าทางสังคมเรื่องศีล (ศีลธรรม) มี ๖ สูตร เช่น ในมหานามสูตรเป็นต้น เพราะถ้าบุคคลรักษาศีล ๕ หรือ ศีล ๘ สังคมจะมีแต่ความสงบสุข และความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นไป (๓) คุณค่าทางสังคมเรื่องทางแห่งสวรรค์ (ทางแห่งความดี) มี ๕ สูตร เช่น ในธัมมหทยวิภังคสูตรเป็นต้น เพราะถ้าบุคคลถวายทาน รักษาศีล ๘ จะเป็นทางที่จะดำเนินไปสู่สวรรค์อันเป็นคุณค่าทางสังคมโดยส่วนรวม (๔) คุณค่าทางสังคมเรื่องโทษของกามคุณ (ทางแห่งกามคุณ) มี ๕ สูตร เช่น ในเทวทูตสูตรเป็นต้น เพราะถ้าบุคคลประพฤติอกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ จะเป็นทางที่จะดำเนินไปสู่ความเสื่อม (นรก) อันไม่เป็นคุณค่าทางสังคมโดยส่วนรวม (๕) คุณค่าทางสังคมเรื่องกิจของฆราวาส (หน้าที่ของชาวบ้าน) มี ๓๑ สูตร เช่น ในปราภวสูตรเป็นต้น เพราะถ้าบุคคลไม่เลี้ยงดูมารดาบิดาซึ่งเป็นหน้าที่ของตน เป็นทางที่จะดำเนินไปสู่ความไม่เสื่อม (นรก) อันไม่เป็นคุณค่าทางสังคมโดยส่วนรวม ในทางตรงกันข้าม ถ้าบุคคลเลี้ยงดูมารดาบิดาก็จะมีความเจริญไม่มีความเสื่อมเลย (๖) คุณค่าทางสังคมเรื่องการอนุโมทนา (บุญ) มี ๑๔ สูตร เช่น ในนิธิกัณฑสูตรเป็นต้น เพราะถ้าบุคคลจำแนกทานแล้วให้ในบุคคลต่างๆ เป็นทางที่จะดำเนินไปสู่ความเจริญ อันเป็นคุณค่าทางสังคมโดยส่วนรวม บุคคลนั้นจะมีแต่ความสุข เมื่อละโลกนี้ไปแล้วจะได้เกิดในสวรรค์ (๗) คุณค่าทางสังคมเรื่องข้อปฏิบัติของบรรพชิต (หน้าที่ของบรรพชิต) มี ๑๘ สูตร เช่น ในอันธกวินทสูตรเป็นต้น เพราะถ้าภิกษุผู้บวชใหม่ดำรงอยู่ในธรรม ๕ ประการ เช่น สำรวมในปาฏิโมกขสังวรศีล เป็นทางที่จะดำเนินไปสู่ความเจริญอันเป็นคุณค่าทางสังคมและทางพระพุทธศาสนาโดยส่วนรวม
Description: 524 หน้า
URI: http://mcuir.mcu.ac.th:8080/jspui/handle/123456789/931
Appears in Collections:รายงานการวิจัย (Research reports)

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
งานวิจัย คัมภีร์สุตตสังคหะ.pdf42.39 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.