Please use this identifier to cite or link to this item: http://mcuir.mcu.ac.th:8080/jspui/handle/123456789/557
Title: การจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
Other Titles: Buddhist Tourism Management in Thailand.
Authors: นริสฺสโร (พันธ์ประโคน), พระมหาเสรีชน
ปัญญชิต, สายชล
วณิชชานนท์, ภูเบศ
Keywords: การท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา
เส้นทางการท่องเที่ยวเชิงพุทธ,
การจัดการท่องเที่ยวเชิงพุทธ
Issue Date: 2556
Publisher: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
Abstract: รายงานการวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษากระบวนการจัดการการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ๒) เพื่อศึกษาสำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในภูมิภาคต่างๆ ที่มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมการท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมเชิงพุทธ และการพัฒนาสังคม และ ๓) เพื่อวิเคราะห์ระบบความสัมพันธ์และผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เป็นการวิจัยแบบผสมผสานที่ใช้วิธีการเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพจากกลุ่มตัวอย่างทั้งที่เป็นพระสงฆ์ พระเถระผู้ใหญ่ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการท่องเที่ยว/การเรียนรู้ภายในวัด ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการด้านการท่องเที่ยว และจากกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศรวมจำนวน ๔๐๐ คนในแต่ละภูมิภาค โดยใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ในเชิงลึก (In–depth Interviews) การสังเกตแบบมีส่วนร่วม (Observations Participant) การประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) และการสัมมนาเชิงวิชาการเป็นเครื่องมือในการศึกษา แล้วนำข้อมูลที่ได้จากกระบวนการวิจัยมาวิเคราะห์ด้วยสถิติพื้นฐาน เช่น การแจกแจงความถี่ การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง การหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย (X) และค่าเฉลี่ยเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) เป็นต้น เพื่ออธิบายข้อมูลพื้นฐานในการศึกษา แล้วทำการวิเคราะห์ สังเคราะห์ในเชิงคุณภาพ เพื่ออธิบายผลการวิจัยตามที่กำหนดไว้ในวัตถุประสงค์การวิจัย ผลการศึกษาพบว่า ๑) กระบวนการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย เน้นกระบวนการจัดการโดยเครือข่ายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและวัดเป็นองค์กรหลัก อย่างไรก็ตามยังขาดมิติของการเชื่อมโยงสู่การจัดการความรู้ ทั้งมิติทางกฎหมาย บุคลากร ประวัติศาสตร์และคุณค่าเชิงพระพุทธศาสนา โดยสามารถแบ่งกระบวนการจัดการท่องเที่ยวออกเป็น ๔ ลักษณะได้แก่ กระบวนการจัดการท่องเที่ยวตามเทศกาล กระบวนการจัดการท่องเที่ยวเชิงเครือข่ายชุมชน กระบวนการจัดการท่องเที่ยวเชิงเครือข่ายผู้ประกอบการ กระบวนการจัดการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ ๒) สำหรับการศึกษาด้านเส้นทางการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นพบว่า เส้นทางการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ยังขาดการบูรณาการเป็นชุดองค์ความรู้ ที่จะสามารถสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งแก่ชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดระบบเศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ดีการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทย มีโอกาสและความพร้อมในการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น โดยต้องอาศัยความร่วมมือเชิงองค์กร ความมั่นคงและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมควบคู่กันไป ทั้งนี้สามารถแบ่งเส้นทางการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยออกเป็น ๓ เส้นทางได้แก่เส้นทางการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาเชิงมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เส้นทางการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาเชิงการจัดการความรู้และการบริหารจัดการสมัยใหม่ และเส้นทางการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาเชิงพุทธศิลปกรรม และ ๓) ความสัมพันธ์และผลกระทบของการท่องเที่ยวที่มีต่อวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยนั้นพบว่า การท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาได้ช่วยส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรของวัด การพัฒนาสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและการทำนุบำรุงพุทธศิลปกรรมภายในวัด รวมทั้งมีส่วนต่อการสนับสนุนให้เกิดรายได้กับวัด ชุมชนและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดีผลกระทบที่เป็นข้อควรระวังคือการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมทั้งในมิติพระพุทธศาสนาและคุณค่าของท้องถิ่น อีกทั้งการไม่ป้องกันไม่ให้แหล่งท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนากลายเป็นสินค้าด้านการท่องเที่ยวเกินไป ตลอดจนควรพัฒนาการจัดการความรู้และการพัฒนาอย่างยั่งยืนแก่สถานที่ท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาด้วย สำหรับแนวทางการพัฒนาในอนาคต จากการศึกษาพบว่าหน่วยงานทั้งองค์กรทางพระพุทธศาสนา องค์กรภาครัฐด้านการท่องเที่ยวและเครือข่ายผู้ประกอบการ ควรให้ความสนใจต่อการพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา ทั้งระเบียบ กฎหมายและข้อบังคับในองค์กรสงฆ์ ตลอดจนต้องสร้างความร่วมมือเชิงเครือข่ายการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม เพื่อให้สามารถกำหนดยุทธศาสตร์และทิศทางการทำงานในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน และการเตรียมความพร้อม ด้านผลกระทบที่จะเกิดจากขยายตัวของการข้ามย้ายพรมแดนของนักท่องเที่ยว ซึ่งหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนา มีความจำเป็นต้องประเมินผลกระทบในระยะยาว จึงจะสามารถพัฒนาให้การจัดการท่องเที่ยวทางพระพุทธศาสนาในประเทศไทยมีมาตรฐานอยู่ในระดับสากลได้
URI: http://mcuir.mcu.ac.th:8080/jspui/handle/123456789/557
Appears in Collections:รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.