Please use this identifier to cite or link to this item: http://mcuir.mcu.ac.th:8080/jspui/handle/123456789/453
Title: การศึกษาประเพณีเข้าพรรษาในสังคมไทยภาคอีสาน
Other Titles: A Study of Buddhist lent in Esarn’s Society
Authors: วุฑฺฒิธมฺโม, พระมหาจิตนเรศ
ลำต้น, นายทองดี
อุดมโชคนามอ่อน, นายไชยสิทธิ์
Keywords: ประเพณี
การเข้าพรรษา
หลักธรรม
ภาคอีสาน
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
Issue Date: 2553
Publisher: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
Abstract: การวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษาประเพณีการเข้าพรรษาในสังคมไทยภาคอีสาน เป็นการศึกษาวิจัยแบบผสมผสาน (Mix Methodology Research) โดยใช้วิธีเก็บรวบรวมข้อมูล ๒ รูปแบบคือ รูปแบบวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล คือแบบสอบถาม โดยคำนวณหาขนาดของกลุ่มตัวอย่างใช้สูตรของทาโร่ ยามาเน่ (Taro Yamane) ใช้วิธีการสุ่มแบบชั้นภูมิแบบมีสัดส่วน ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๔๐๐ คน รูปแบบวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มเป้าหมายคือผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Information) โดยการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คือ พระสงฆ์ เจ้าหน้าที่องค์กรภาครัฐ และประชาชนผู้ร่วมพิธี จำนวน ๒๕ คน/รูป โดยสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเพณีการเข้าพรรษาในสังคมไทยภาคอีสาน ๔ ด้าน คือ ด้านหลักธรรม ด้านพิธีกรรม ด้านความเชื่อและด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ผลการวิจัย พบว่า ประเพณีการเข้าพรรษาในสังคมไทยภาคอีสาน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๖๗) ด้านความเชื่ออยู่ในระดับ มาก ( = ๓.๖๓) ด้านพิธีกรรม อยู่ในระดับมาก( = ๓.๕๖) และด้านหลักธรรม อยู่ในระดับมาก ( = ๓.๓๖) สัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับประเพณีการเข้าพรรษาในสังคมไทยภาคอีสาน พบว่า ๑. ด้านหลักธรรม ในประเพณีเข้าพรรษาในสังคมไทยภาคอีสานที่นำมาปฏิบัติคือ หลักวิรัติธรรม หมายถึง การงดเว้นจากบาป ตลอดจนอบายมุขต่างๆ มี ๓ อย่างคือ (๑) สัมปัตตวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆด้วยเกิดความรู้สึกละอายและเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป (๒) สมาทานวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ โดยเพียรระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย (๓) สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆได้อย่างเด็ดขาด ในระหว่างพรรษากาลแล้วแม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่น กรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป นอกจากนั้นยังมีหลักธรรมที่เป็นแนวทางการปฏิบัติ คือ สัมมาทิฐิ ประคับประคองจิต ๓ ประการ คือ (๑) มีสัมมาทิฐิ ในการมีน้ำใจในการให้ (๒) มีสัมมาทิฐิ ในการตั้งใจครองเรือน และ(๓) มีสัมมาทิฐิในการมีสติเป็นเพื่อนทุกลมลมหายใจ ๒. ด้านความเชื่อ ในประเพณีเข้าพรรษาในสังคมไทยภาคอีสาน มีความผูกพันกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและมีความเชื่อว่าบุญเข้าพรรษาเป็นอีกหนึ่งฮีตหรือจารีตประเพณีตามฮิตสิบสองของอีสาน เชื่อในเรื่องของการทําบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน ถวายผ้าอาบน้ำฝนและถวายเทียนพรรษาแก่พระสงฆ์ จะได้รับบุญกุศลมากมาย โดยในช่วงเข้าพรรษาพระสงฆ์แต่ละวัดก็จะมีการเทศนาเพื่อเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตให้พุทธศาสนิกชน คือ การเทศนาเรื่องปฐมสมโพธิ์ การเสด็จขึ้นไปโปรดพุทธมารดาที่ชั้นดาวดึงว์ ตลอดจนบิดามารดามักจะจัดพิธีอุปสมบทให้บุตรหลานของตนโดยถือกันว่าการเข้าบวชเรียนและอยู่จำพรรษาในระหว่างนี้จะได้รับอานิสงส์อย่างสูง ๓. ด้านพิธีกรรม ในประเพณีเข้าพรรษาในสังคมไทยภาคอีสาน สามารถจำแนกออกเป็น ๒ อย่าง คือ (๑) พิธีกรรมสำหรับพระสงฆ์ คือการปวารณาเข้าพรรษาของพระสงฆ์การเข้าพรรษาเป็นกิจกรรมของพระสงฆ์โดยเฉพาะ หมายถึง วันกำหนดที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องพักประจำอยู่กับที่ในฤดูฝนตลอดเวลาสามเดือน มีพุทธบัญญัติไว้เป็น ๒ ระยะคือ ระยะที่ ๑ :เริ่มตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ เรียกว่าวันเข้าปุริมพรรษา ระยะที่ ๒ :เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๒ เรียกว่าวันเข้าปัจฉิมพรรษา (๒) พิธีกรรมที่พุทธศาสนิกชนได้กระทำในช่วงเข้าพรรษา ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทำบุญรักษาศีลและชำระจิตใจให้ผ่องใส พิธีกรรมที่สำคัญคือ มีการทำบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝนแด่พระสงฆ์และการถวายเทียนพรรษา ตลอดจนถึงการฟังธรรม การรักษาอุโบสถศีล คือความตั้งใจงดเว้นจากอบายมุขต่างๆ เป็นเวลาตลอดทั้งสามเดือน เช่น งดเสพสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น ๔. ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ในประเพณีเข้าพรรษาในสังคมไทยภาคอีสาน เป็นภูมิปัญญาซึ่งเกิดขึ้นจากการยึดถือปฏิบัติตามจารีตประเพณีของชาวอีสานที่เรียกว่า"ฮีตสิบสอง คองสิบสี่"ชาวอีสาน ส่วนใหญ่มีวิถีชีวิตอยู่บนพื้นฐานความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ปรากฏชัดในประเพณีเข้าพรรษาคือ ประเพณีแห่เทียนพรรษา ซึ่งจะมีขั้นตอนการสร้างต้นเทียน การตกแต่ง การหล่อเทียน การแกะสลักเทียนที่คุ้มชุมชนต่างๆได้ผลิตคิดค้นขึ้นมา เช่น การสร้างต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดนครราชสีมา โดยการแกะสลักและติดพิมพ์ลวดลายลงบนต้นเทียน ก่อนที่จะนำถวายแต่ละคุ้มวัด ก็จะมีขบวนแห่อย่างยิ่งใหญ่ จนเป็นประเพณีแห่เทียนพรรษาเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และมีการทำสืบทอดขั้นตอนวิธีการทำเทียนพรรษากันมาจนถึงปัจจุบัน
URI: http://mcuir.mcu.ac.th:8080/jspui/handle/123456789/453
Appears in Collections:รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.