Please use this identifier to cite or link to this item: http://mcuir.mcu.ac.th:8080/jspui/handle/123456789/218
Title: สถานภาพทางกฎหมายของวัดที่มิได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และสำนักสงฆ์
Other Titles: Legal Status of the Temple that has been granted Visungamasima and the Residence of Monks
Authors: พระสิทธินิติธาดา
Keywords: สถานภาพทางกฎหมายของวัด
วัดที่มิได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
สำนักสงฆ์
Issue Date: 2557
Publisher: สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
Abstract: การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยในเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ทางนิติศาสตร์ ผสมผสานกับทางรัฐศาสตร์ในลักษณะการวิจัยเอกสาร (Documentary Research) และการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) จากการวิจัยภาคสนาม (Field Research) ด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึก (In-depth Interview) และการใช้แบบสอบถาม (Questionnaire) รวมทั้งการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อรับฟังความคิดเห็น จากประชากรกลุ่มตัวอย่าง ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพระภิกษุสงฆ์ และกลุ่มฆราวาส โดยนำข้อมูลเหล่านั้นมาอธิบายและวิเคราะห์เชิงเนื้อหา (Content Analysis) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงสถานภาพทางกฎหมายของวัดที่มิได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและสำนักสงฆ์ตลอดจนสภาพปัญหาอุปสรรค เพื่อเสนอแนะมาตรการที่เหมาะสมเกี่ยวกับสถานภาพทางกฎหมายของวัดที่มิได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและสำนักสงฆ์ ผลของการวิจัยพบว่า สถานภาพความเป็นนิติบุคคลของวัดในพระพุทธศาสนา เกิดขึ้นและเป็นผลจากบทบัญญัติตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่บัญญัติว่า วัดมีสองอย่าง ได้แก่ (๑) วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (๒) สำนักสงฆ์ และในวรรคสองบัญญัติให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล โดยสถานภาพความเป็นนิติบุคคลของวัดในพระพุทธศาสนานั้น เป็นนิติบุคคลในทางกฎหมายมหาชน ซึ่งแตกต่างจากความเป็นนิติบุคคลของศาสนสถานในศาสนาอื่นซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลเอกชน โดยมีความแตกต่างทั้งในเรื่องของการจัดตั้งและการสิ้นสุดของนิติบุคคลซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย การใช้อำนาจมหาชนในการดำเนินงานของวัด ความสัมพันธ์กับนิติบุคคลอื่นในลักษณะที่ไม่เท่าเทียมกัน และวัตถุประสงค์ที่มุ่งต่อประโยชน์ของมหาชนหรือประโยชน์สาธารณะ ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพความเป็นนิติบุคคลของวัดและสำนักสงฆ์เกิดขึ้นจากการที่ส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และองค์กรคณะสงฆ์ ต่างมีความเห็นร่วมกันว่า การที่กฎหมายบัญญัติให้วัดมีฐานะเป็นนิติบุคคล ย่อมต้องหมายถึงวัดทั้งสองอย่างคือ วัดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและสำนักสงฆ์ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางคำพิพากษาของศาลฎีกาซึ่งได้มี คำวินิจฉัยว่าวัดหรือสำนักสงฆ์ที่แม้จะมิได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา แต่เมื่อได้รับอนุญาตให้จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายแล้ว ก็มีสถานะเป็นนิติบุคคล อย่างไรก็ตามต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๖๕/๒๕๕๔ กลับแนวทางคำพิพากษาเดิมเสีย โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นความเป็นนิติบุคคลของวัดว่า วัดที่จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลได้ต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วเท่านั้น ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้มีผลทำให้วัดที่มิได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและสำนักสงฆ์ไม่มีสถานภาพเป็นนิติบุคคล เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อการดำเนินการ ทั้งในด้านสิทธิ หน้าที่ การทำ นิติกรรมสัญญา การฟ้องคดี การมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่าง ๆ ผลของการวิจัยพบว่าหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งวัดซึ่งเดิมทีเป็นไปตามพุทธบัญญัติและจารีตประเพณีนั้น เมื่อกฎหมายเข้ามากำหนดสถานภาพทางกฎหมายให้กับวัด สิ่งที่ตามมาคือความไม่สอดคล้องในบางประเด็นระหว่างแนวปฏิบัติเดิมกับสิ่งที่เป็นบทบัญญัติทางกฎหมาย การพระราชทานวิสุงคามสีมาเป็นจารีตประเพณีที่องค์พระมหากษัตริย์จะพระราชทานเขตแดนให้แก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สังฆกรรม เป็นการแยกส่วนบ้านออกจากส่วนวัด อันเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายอาณาจักรกับฝ่ายสงฆ์ในลักษณะส่งเสริมหรือเกื้อกูลพระพุทธศาสนา การนำเงื่อนไขการต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมามาผูกเป็นเงื่อนไขความเป็นนิติบุคคลของวัดและสำนักสงฆ์ เป็นการผลักภาระการบริหารหรือการใช้อำนาจฝ่ายปกครองให้กับองค์พระมหากษัตริย์ จึงเป็นหลักการที่ไม่สอดคล้องกับหลักการบริหารราชการแผ่นดินและบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับความเป็นนิติบุคคลของวัดที่ไม่มีความชัดเจน ผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายตามมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยยึดถือหลักการว่า สถานภาพความเป็นนิติบุคคลของวัดหรือสำนักสงฆ์เริ่มต้นเมื่อหน่วยงานของรัฐได้อนุญาตและรับรองการจัดตั้งว่าเป็นวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่นำเอาเงื่อนไขการต้องได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา มาเป็นเกณฑ์การพิจารณาความเป็นนิติบุคคลขององค์กร เพื่อให้ความเป็นนิติบุคคลของวัดและสำนักสงฆ์มีความชัดเจนและเป็นไปตามหลักความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน.
URI: http://mcuir.mcu.ac.th:8080/jspui/handle/123456789/218
Appears in Collections:รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
2557-117 พระสิทธินิติธาดา, ดร.pdf3.24 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.